จะทราบได้อย่างไรว่า เร
โรคไข้หวัด อีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่เราทุกคนคงคุ้นเคยกันดี ซึ่งโดยปกติมักจะระบาดในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันเราพบว่า โรคไข้หวัด สามารถระบาดได้ตลอดทั้งปีเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยและเป็นหวัดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งอาการของโรคไข้หวัดนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความแข็งแรงของร่างกาย และสาเหตุของโรค เพราะโรคไข้หวัดสามารถเกิดจากทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย แล้วเราจะทราบได้อย่างงไรล่ะว่า ... เราเป็นหวัดจากไวรัสหรือแบคเรียกันแน่?
ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส กับ แบคทีเรีย แตกต่างกันอย่างไร?
มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักไม่ไปพบแพทย์และซื้อยามาทานเองเมื่อเป็นไข้หวัด โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดต้องทานยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบทุกครั้ง แต่จริง ๆ แล้วนั้น โรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสกับโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีอาการแตกต่างกัน สามารถสังเกตุด้วยตนเองได้ และควรรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม การทานยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้อักเสบโดยไม่จำเป็นและทานไม่ครบจำนวนนั้น อาจส่งผลให้เกิดการตกค้างของยาปฏิชีวนะและส่งผลเกิดอาการเชื้อดื้อยา หรือพูดอีกอย่างนึงก็คือว่า ทานยาเท่าไหร่โรคก็ไม่หายนั่นเองไข้หวัดจากเชื้อไวรัส
ไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักมีอาการ
· มีน้ำมูก
· ไอ
· มีอาการระคายคอ หรือเจ็บคอ
· อาจมีเสียงแหบร่วมด้วย
การรักษาโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส
เนื่องจากโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสนั้นสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทานยาปฏิชีวนะ อาจใช้เวลา 5-7 วัน เพียงแค่ดูแลตนเองและปฏิบัติดังนี้
· พักผ่อนให้เพียงพอ
· ทำร่างกายให้อบอุ่น
· ดื่มน้ำมาก ๆ
· กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา
ไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย
ส่วนไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการ 3 ใน 4 ข้อของอาการดังต่อไปนี้· ต่อมทอนซิลบวม หรือมีจุดหนอง
· ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดเจ็บ
· มีไข้ (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส)
· ไม่มีอาการไอ
การรักษาโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
หากท่านสงสัยว่าเป็นหวัดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหรือปรึกษาเภสัชกรเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะแต่ละชนิด จำเป็นต้องทานต่อเนื่องให้หมดตามระยะเวลาหรือจำนวนที่กำหนด เพื่อให้สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หมด ซึ่งระยะเวลาและจำนวนยาที่ต้องทานอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของยา อีกทั้งการได้รับยาปฏิชีวนะในแต่ละครั้ง ยังเพิ่มโอกาสการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในร่างกาย เพราะยาปฏิชีวนะที่เราได้รับสามารถจำกัดได้ทั้งแบคทีเรียที่มีประโยชน์และมีโทษ แบคทีเรียที่รอดชีวิตจึงสร้างตัวเองให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยานั่นเอง
เราจะเห็นได้ว่า การทานยาปฏิชีวนะนั้นมีทั้งประโยชน์ และมีโทษหากทานอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อตัวเราเองหรือบุคคลใกล้ชิดเป็นโรคไข้หวัด สิ่งแรกที่ควรทำก่อนไปซื้อยามาทานเองนั้น ลองสังเกตุตัวเองก่อนว่า เรามีอาการแบบไหน จัดอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หากไม่แน่ใจหรืออาการไม่ชัดเจน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ถูกต้อง